บทนำ
บทความนี้จะมาแนะนำเกี่ยวกับโรคฉี่หนูในสุนัขว่า
- โรคนี้คืออะไร
- มีอาการเป็นอย่างไร
- สาเหตุที่ทำให้สุนัขป่วยเป็นโรคนี้เกิดจากอะไร
- ทางสัตวแพทย์มีวิธีรักษาโรคนี้อย่างไรบ้าง
- คุณมีวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขของคุณป่วยเป็นโรคฉี่หนูได้อย่างไรบ้าง
- รวมถึงวิธีป้องกันโรคฉี่หนูในมนุษย์ (คุณสามารถป่วยเป็นโรคฉี่หนูจากสุนัขได้)
โรคฉี่หนูในสุนัขคืออะไร
โรคฉี่หนูในสุนัข หรือโรคเลปโตสไปโลซีสในสุนัข (Leptospirosis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า เลปโตสไปล่า (Leptospira spp.) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถทนต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
โดยส่วนใหญ่เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ แอ่งน้ำ บ่อ ดิน โคลน แม่น้ำ น้ำตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงบริเวณที่มีน้ำท่วงขังจะมีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งสุนัขของคุณจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ขึ้นมาได้ จากการสัมผัสกับแหล่งน้ำ หรือแหล่งดินโคลนที่มีเชื้อแบททีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่ รวมถึงการสัมผัสกับปัสสาวะของหนู (หนูเป็นสัตว์ที่สามารถกักเก็บเชื้อโรคต่างๆ ไว้ในอยู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี) โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายของสุนัขได้ผ่านทาง
- บาดแผลสด
- เยื่อบุตา
- จมูก (ผ่านการหายใจ)
- ปาก (ผ่านการดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่ในน้ำ)
อาการของโรคฉี่หนูในสุนัข
เมื่อสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคฉี่หนูแล้วจะมีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ตัวร้อนเป็นไข้
- มีอาการอ่อนแรง
- ซึม ไม่กินอาหาร
- ท้องเสีย ปวดท้อง
- อาเจียน
- ตาแดง (อาการนี้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าได้รับเชื้อผ่านทางเยื่อบุตา)
- ทานน้ำตลอดทั้งวัน
- มีอาการตัวเหลือง (ภาวะดีซ่าน)
- ขับถ่ายปัสสาวะตลอดทั้งวัน หรือบางทีอาจจะไม่ขับถ่ายปัสสาวะเลย
- สุนัขจะรู้สึกเจ็บปวดที่กล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
- ในกรณีที่โรคนี้เกิดกับสุนัขที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ก็อาจจะทำให้แม่สุนัขตัวนั้นเกิดการแท้งลูกขึ้นมาได้
- ในสุนัขบางตัวที่มีอาการป่วยอย่างรุนแรง ก็อาจจะทำให้สุนัขตัวนั้นเกิดอาการไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตลงได้
ถ้าคุณพบว่าสุนัขของคุณมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันมากกว่า 1 – 2 วัน ให้คุณรีบพาสุนัขของคุณไปหาสัตวแพทย์ในทันที
วิธีรักษาจากทางสัตวแพทย์
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ติดจากเชื้อแบคทีเรีย จึงต้องใช้การรักษาด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อประเภทต่างๆ ร่วมกับสารน้ำ ยาลดกรด ยาลดการอาเจียน ยาบำรุงตับ กับยาบำรุงไต
เพื่อป้องกันไม่ให้ตับและไตของสุนัขได้รับความเสียหายอย่างหนัก กับช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขเกิดไตวายเฉียบพลันขึ้นมาได้ โดยส่วนใหญ่ถ้ารักษาอย่างถูกวิธีอาการต่างๆ ของสุนัขก็จะเริ่มดีขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์
แต่ถึงแม้ว่าอาการต่างๆ ของสุนัขจะเริ่มดีขึ้นแล้ว คุณยังจำเป็นต้องให้สุนัขของคุณทานยาปฏิชีวนะประเภทต่างๆ ต่ออีกประมาณ 1 เดือนเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อที่มีอยู่ในร่างกายของสุนัข ป้องกันไม่ให้สุนัขของคุณไปแพร่เชื้อสู่สุนัขตัวอื่นๆ รวมถึงกับคุณได้
ป.ล. โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่สุนัขสามารถแพร่เชื้อไปสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นๆ ได้ รวมถึงกับมนุษย์อย่างพวกเราได้
วิธีป้องกันโรคฉี่หนูในสุนัข
- หลีกเลี่ยงอย่าให้สุนัขของคุณไปเล่นน้ำแช่น้ำ วิ่งลุยน้ำ วิ่งไปเล่นดินโคลนจากสถานที่ต่างๆ ที่อยู่นอกบ้าน
- หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ในบ้าน รวมถึงพื้นที่ที่สุนัขพักอาศัยอยู่เป็นประจำ
- ให้คุณรีบจับสุนัขของคุณอาบน้ำในทันที ถ้าคุณพบว่าสุนัขของคุณพึ่งไปวิ่งเล่นซุกซนจนเนื้อตัวเปียกสกปรกกลับมา
- พาสุนัขของคุณไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนู (วิธีนี้เป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลดีที่สุด)
วิธีป้องกันโรคฉี่หนูในมนุษย์
จากที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่าโรคฉี่หนูเป็นโรคที่สุนัขสามารถแพร่เชื้อมาสู่คุณได้ คุณจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ต่อเมื่อ คุณเผลอไปสัมผัสกับปัสสาวะของสุนัขที่กำลังป่วยเป็นโรคนี้อยู่ โดยเชื้อโรคชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายของคุณถ้าผ่านทางแผลสด
รวมถึงคุณยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ผ่านการเดินลุยน้ำท่วมขังในจุดที่มีน้ำท่วม หรือคุณอาจจะได้รับเชื้อชนิดนี้ผ่านการว่ายน้ำในแม่น้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่
ดังนั้นถ้าคุณพบว่าสุนัขของคุณกำลังป่วยเป็นโรคฉี่หนูอยู่ ให้คุณป้องกันตัวเองด้วยการ
- สวมถุงมือทุกครั้งก่อนที่จะสัมผัสตัวของสุนัข
- ให้คุณล้างทำความสะอาดมือของคุณทุกครั้ง ที่มีการสัมผัสกับปัสสาวะของสุนัขอย่างเช่น หลังจากที่ทำความสะอาดกระบะทรายของสุนัข
- หนู ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้คุณป่วยเป็นโรคฉี่หนูขึ้นมาได้ ดังนั้นคุณควรหาวิธีกำจัดหนูในบ้านของคุณให้มากที่สุด
- หลีกเลี่ยงอย่าไปเดินลุยในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังสูง แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องเดินลุยน้ำจริงๆ ให้คุณสวมรองเท้าบูทยาวทุกครั้ง
- อย่าไปลงเล่นน้ำในแม่น้ำโดยเด็ดขาด ถ้าคุณอยากเล่นน้ำจริงๆ ให้คุณไปลงเล่นน้ำตามสระน้ำที่ได้รับมาตรฐานจะเป็นการดีกว่า
ควรทำอย่างไรถ้าคุณพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคฉี่หนู
อาการของโรคฉี่หนูในมนุษย์จะคล้ายๆ กับอาการของสุนัขเลยซึ่งนั้นก็คือ ถ้าคุณป่วยเป็นโรคนี้แล้วจะทำให้คุณมีอาการ
- ปวดหัว มีไข้ขึ้นสูง
- ตาแดง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ตัวเหลือง
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีตุ่มสีแดงเกิดขึ้นตามร่างกาย
ถ้าคุณพบว่าคุณมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันมากกว่า 1 – 2 วัน ให้คุณรีบเข้าพบแพทย์โดยทันที เพราะโรคฉี่หนูในมนุษย์ถ้ามีอาการรุนแรงมากๆ เข้า ก็อาจจะทำให้คุณมีอาการไตวายอย่างเฉียบพลัน รวมถึงเชื้อแบคทีเรียอาจจะเข้าไปทำลายตับ ไต กับระบบประสาทส่วนกลางของคุณได้