รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคหวัดในสุนัข

เราสามารถติดหวัดจากสุนัขได้ไหม

บทนำ

สุนัขสามารถเป็นหวัดได้เหมือนกับมนุษย์อย่างพวกเราเลย แต่จะต่างกันตรงที่เชื้อไวรัสที่ทำให้สุนัขป่วยเป็นหวัดนั้น จะเป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสที่ทำให้มนุษย์ติดหวัด

และเมื่อสุนัขเกิดป่วยเป็นโรคหวัดขึ้นมา อาการต่างๆ ที่สุนัขแสดงออกมานั้น จะมีความคล้ายคลึงเหมือนกับอาการหวัดของมนุษย์เลยอย่างเช่น อาการน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ เจ็บคอ และมีเสมหะเป็นต้น

โดยบทความนี้จะรวบรวบเรื่องราวอันน่ารู้เกี่ยวกับโรคหวัดของสุนัขว่า

  • สุนัขสามารถแพร่เชื้อโรคหวัดมาติดคุณได้หรือไม่
  • คุณควรระวังเรื่องไหนบ้างเมื่อสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคหวัด
  • คุณควรทำอย่างไรบ้าง เมื่อสุนัของคุณป่วยเป็นโรคหวัด
  • วิธีป้องกันโรคหวัดให้กับสุนัขของคุณ

ถ้าคุณผู้อ่านคนไหนกำลังสนใจเรื่องราวนี้อยู่ก็สามารถมาตามอ่านกันต่อได้เลยครับ

คุณสามารถติดโรคหวัดจากสุนัขของคุณได้ไหม

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าโรคหวัดในสุนัขนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับโรคหวัดของมนุษย์ และเมื่อมันเป็นเชื้อไวรัสคนละตัวกับของมนุษย์ จึงทำให้สุนัขไม่สามารถแพร่เชื้อโรคหวัดมาติดคุณได้ ดังนั้นขอให้คุณสบายใจได้ว่าคุณไม่มีทางติดไข้หวัดจากสุนัขของคุณได้เลย

สิ่งที่ต้องระวังเมื่อสุนัขป่วยเป็นโรคหวัด

สิ่งที่คุณต้องระวังเมื่อสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคหวัด

โรคหวัดถือว่าเป็นโรคปกติโดยทั่วไปของสุนัข โรคหวัดของสุนัขจะสามารถหายได้เอง เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

แต่สิ่งที่คุณต้องระวังเอาไว้ก็คือ อาการแทรกซ้อนหรือโรคอื่นๆ ที่มักจะตามมาเมื่อสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคหวัดอย่างเช่น โรคไข้หัดสุนัข กับวัณโรค

ถ้าสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคหวัดอยู่แล้ว แล้วสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคเหล่านี้ร่วมด้วย มันจะทำให้อาการต่างๆ ของสุนัขเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โรคอื่นๆ ก็มีอาการคล้ายๆ กับโรคหวัดเหมือนกัน

และนอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายๆ กับโรคหวัดของสุนัขเลยอย่างเช่น

  • โรคภูมิแพ้ในสุนัข
  • โรคหอบหืดในสุนัข
  • สุนัขติดเชื้อปรสิตประเภทต่างๆ ที่มีผลโดยตรงต่อปอดหลอดลมและหัวใจของสุนัข
  • มีการติดเชื้อราเกิดขึ้นที่ปอดของสุนัขจนทำให้สุนัขมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ปอดของสุนัขเกิดการอักเสบ

เมื่อสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคเหล่านี้ มันจะทำให้สุนัขของคุณมีอาการคล้ายกับโรคหวัดอย่างเช่น อาการไอ จาม อาเจียน มีไข้ขึ้นสูง มีขี้ตา และมีน้ำมูกที่ข้นกว่าปกติ

ดังนั้นถ้าคุณอยากรู้ว่าสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคอะไร ทุกครั้งที่สุนัขของคุณมีอาการป่วยเหล่านี้ คุณควรพาสุนัขของคุณไปตรวจร่างกายกับทางสัตวแพทย์ เพื่อดูว่าสุนัขของคุณกำลังป่วยเป็นโรคอะไรอยู่กันแน่น

จะทำอย่างไรเมื่อสุนัขป่วยเป็นโรคหวัด

คุณควรทำอย่างไรบ้างเมื่อสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคหวัด

ในกรณีที่สุนัขของคุณป่วยเป็นโรคหวัดเล็กน้อย

ในกรณีที่สุนัขของคุณมีอาการไอเพียงเล็กน้อย กับมีน้ำมูกไหลออกมาเพียงอย่างเดียว คุณก็สามารถใช้วิธีรักษา เหมือนกับตอนที่คุณป่วยเป็นโรคหวัดอย่างเช่น

  • การให้สุนัขดื่มน้ำอยู่เป็นประจำ
  • ให้สุนัขทานแต่อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของสุนัข
  • งดไม่ให้สุนัขทานอาหารดิบๆ หรือของที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก
  • ให้สุนัขของคุณได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ปลอดโปร่ง และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

เพียงเท่านี้อาการต่างๆ ของโรคหวัดสุนัข ก็จะค่อยๆ หายดีไปเองเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

ในกรณีที่สุนัขของคุณมีสุขภาพที่อ่อนแอ

ในกรณีที่สุนัขของคุณมีร่างกายที่อ่อนแอ รวมถึงในกรณีที่สุนัขของคุณป่วยเป็นโรคหวัดแล้วมีอาการต่างๆ อย่างรุนแรง คุณควรพาสุนัขของคุณไปรักษาตัวกับทางสัตวแพทย์จะเป็นการดีกว่า

เพราะทางสัตวแพทย์จะมียาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการโรคหวัดของสุนัขลงได้

ลูกสุนัข กับสุนัขแก่

ในกรณีนี้จะคล้ายๆ กับในกรณีของสุนัขที่มีสุขภาพไม่ดี ถ้าเกิดว่าลูกสุนัขของคุณ (มีอายุยังไม่ครบ 1 ปี) รวมถึงสุนัขวัยชราที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เกิดป่วยเป็นโรคหวัดขึ้นมา

คุณควรพาสุนัขของคุณไปรักษาโรคหวัดกับทางสัตวแพทย์ ดีกว่าที่คุณจะมารักษาสุนัขของคุณด้วยตัวเอง เพราะสุนัขในกลุ่มเหล่านี้จะมีระบบภูมิคุ้มร่างกายอ่อนแอกว่าสุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว ซึ่งมันจะมีโอกาสสูงที่สุนัขของคุณอาจจะมีอาการหนักขึ้นมาได้

วิธีป้องกันโรคหวัดในสุนัข

วิธีป้องกันโรคหวัดในสุนัข

  • ให้สุนัขทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน
  • ทำให้สุนัขมีสุขภาพจิตที่ดีอยู่เสมออย่างเช่น หาเวลามาเล่นกับสุนัข หรือพาสุนัขของคุณออกไปเดินเล่นนอกบ้านบ้าง
  • ให้สุนัขของคุณได้ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำวันละประมาณ 10 – 15 นาทีต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขอยู่ในที่ที่มีอากาศที่ร้อนจัด หรือหนาวจัดจนเกินไป ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
  • ให้สุนัขของคุณทานน้ำอย่างเพียงพอในแต่ละวัน ก็เป็นการช่วยป้องกันโรคหวัดได้
  • ในกรณีที่คุณเลี้ยงสุนัขไว้หลายตัวในบ้าน ถ้ามีสุนัขตัวใดตัวหนึ่งเกิดป่วยเป็นไข้หวัดขึ้นมา ให้คุณแยกสุนัขตัวนั้นไว้ต่างหาก เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขที่กำลังป่วยอยู่ ไปแพร่เชื้อหวัดติดสุนัขตัวอื่นๆ ในบ้านของคุณได้ ไว้รอให้สุนัขตัวที่ป่วยอยู่หายดีก่อน คุณถึงจะพาสุนัขตัวนั้นกลับเข้ามาเลี้ยงรวมกันกับสุนัขตัวอื่นๆ ได้