4 ข้อควรระวังในการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ขาสั้น

4 ข้อควรระวังในการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ขาสั้น

บทนำ

บทความนี้จะมาแนะนำถึง 4 ข้อควรระวังในการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ขาสั้น เพราะสุนัขขาสั้นมักจะป่วยเป็นโรคกระดูกข้อต่ออักเสบได้ง่าย คุณจึงต้องระวังเป็นพิเศษ

สำหรับคุณผู้อ่านท่านไหนที่อยากรู้วิธีดูแลสุนัขสายพันธุ์ขาสั้นของคุณอย่างเช่น

  • สุนัขคอร์กี้
  • บาสเซ็ต ฮาวด์
  • กลุ่มสุนัขสายพันธุ์เทอร์เรีย

ให้ห่างไกลจากการเป็นโรคข้อต่ออักเสบ กับโรคกระดูกสันหลัง คุณก็สามารถมาตามอ่านกันต่อได้เลยครับ

4 ข้อควรระวังในการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ขาสั้น

1. อย่าปล่อยให้สุนัขป่วยเป็นโรคอ้วน  

ถ้าคุณปล่อยให้สุนัขสายพันธุ์ขาสั้นป่วยเป็นโรคอ้วนแล้ว มันจะนำพาโรคต่างๆ มาติดกับสุนัขของคุณได้อย่างเช่น

  • โรคหัวใจ
  • โรคกระดูกข้อต่ออักเสบ
  • โรคกระดูกสันหลัง
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
  • โรคเบาหวาน

ซึ่งโรคเหล่านี้จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสุนัขเป็นอย่างมาก มันจะทำให้สุนัขของคุณต้องรู้สึกเจ็บปวดและทรมานเมื่อป่วยเป็นโรคเหล่านี้ แถมคุณยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากอีกด้วย

วิธีป้องกัน

คุณสามารถป้องกันไม่ให้สุนัขของคุณป่วยเป็นโรคอ้วนได้อย่างง่ายๆ โดยการให้สุนัขของคุณทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ได้รับการออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ

กับคุณต้องใจแข็งทุกครั้งที่สุนัขเข้ามาร้องขออาหารหรือขนมจากคุณ เพียงเท่านี้สุนัขสายพันธุ์ขาสั้นของคุณก็จะมีสุขภาพที่ดี มีรูปร่างที่ดูสมสัดส่วนห่างไกลจากโรคอ้วนแล้ว

2. ระวังเรื่องการขึ้นลงบันได

สุนัขสายพันธุ์ขาสั้นจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อต่อ กับโรคกระดูกสันหลังได้ง่ายกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งการขึ้นลงบันไดก็เป็นตัวเร่งทำให้สุนัขสายพันธุ์ขาสั้นของคุณป่วยเป็นโรคเหล่านี้ขึ้นมาได้

เพราะการขึ้นลงบันไดอย่างรวดเร็วนั้น จะทำให้ขาของสุนัขได้รับแรงกระแทกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันจะส่งผลต่อกระดูกข้อต่อของสุนัขขึ้นมาได้

ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเหล่านี้ของสุนัขสายพันธุ์ขาสั้น คุณควรอุ้มสุนัขของคุณลงบันไดแทนที่จะปล่อยให้พวกมันวิ่งขึ้นลงบันไดเอง

วิธีดูแลสุนัขเทอร์เรีย

3. ทำความสะอาดตรงบริเวณช่วงท้องกับช่วงอกของสุนัขอยู่เป็นประจำ

สาเหตุที่คุณจำเป็นต้องทำความสะอาดบริเวณช่วงท้องกับช่วงอกของสุนัขสายพันธุ์ขาสั้นอยู่เป็นประจำ นั้นก็เพราะว่าสุนัขสายพันธุ์เหล่านี้จะมีช่วงขาที่สั้นกว่าปกติ

จึงทำให้ผิวหนังตรงบริเวณส่วนท้องกับส่วนอกต้องสัมผัสกับพื้นดิน พื้นหญ้าที่มีสิ่งสกปรกต่างๆ อยู่เป็นประจำ จึงทำให้สุนัขสายพันธุ์ขาสั้นมักจะป่วยเป็นโรคผิวหนังที่บริเวณช่องท้องและช่วงอกกันอยู่เป็นประจำ

วิธีแก้ไข

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ คุณควรหมั่นทำความสะอาดบริเวณใต้ท้อง รวมถึงอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับท้องของสุนัขอยู่เป็นประจำ

โดยคุณอาจจะหาผ้าชุบน้ำสะอาดมาทำความสะอาดที่บริเวณใต้ท้องของสุนัขอยู่เป็นประจำ หรือคุณจะจับสุนัขสายพันธุ์ขาสั้นของคุณอาบน้ำเลยก็ได้เหมือนกัน (แต่อย่าให้เกิน 1 – 2 ครั้งต่อเดือน เพราะมันจะทำให้ผิวหนังของสุนัขหยาบและแห้งกร้านขึ้นมาได้)

สำหรับแชมพูที่ใช้ในการอาบน้ำให้กับสุนัขสายพันธุ์ขาสั้นควรจะเป็น แชมพูสูตรถนอมผิวที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติอย่างเช่น

  • สารสกัดจากว่างหางจระเข้
  • สารสกัดจากน้ำมันมะกอก
  • สารสกัดจากเปลือกสน

แชมพูสูตรเหล่านี้จะช่วยบำรุงผิวและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคผิวหนังของสุนัขลงได้เป็นอย่างดี และอีกสิ่งหนึ่งที่คุณต้องใส่ใจหลังจากที่อาบน้ำให้กับสุนัขของคุณเสร็จก็คือ

คุณจำเป็นต้องเป่าขนของสุนัขให้แห้งสนิททุกครั้ง ก่อนที่จะปล่อยให้สุนัขกลับไปวิ่งเล่นได้อย่างอิสระอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขของคุณป่วยเป็นโรคผิวหนังจากขนที่เปียกชื้น

4. อย่าออกกำลังกายอย่างหักโหม

การออกกำลังกายอย่างรุนแรงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระดูกสันหลังของสุนัขสายพันธุ์ขาสั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งมันจะเป็นตัวเร่งทำให้สุนัขของคุณป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังขึ้นมาได้ง่ายเป็นอย่างมาก

สำหรับการออกกำลังกายที่ดีของสุนัขสายพันธุ์ขาสั้นควรจะเป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆ อย่างเช่น

  • การให้สุนัขได้ว่ายน้ำในสระน้ำเป่าลมเด็ก หรือคุณอาจจะพาสุนัขไปว่ายน้ำตามสถานที่รับฝึกสุนัขว่ายน้ำก็ได้เหมือนกัน
  • การพาสุนัขไปเดินเล่นตามสถานที่ต่างๆ อย่างเช่น สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน ,เดินเล่นบริเวณรอบหมู่บ้านของคุณ ,พาไปเดินตามสวนสาธารณะใกล้บ้านของคุณ เป็นต้น
  • สำหรับคุณผู้อ่านท่านไหนที่มีงบประมาณในการเลี้ยงสุนัข คุณก็สามารถหาซื้อลู่วิ่งมากให้สุนัขของคุณได้เดินออกกำลังกายได้เหมือนกัน โดยให้คุณปรับระดับการวิ่งให้อยู่ในระดับต่ำสุด และคุณต้องคอยดูแลสุนัขของคุณอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างที่สุนัขกำลังเดินอยู่บนลู่วิ่ง

สำหรับการออกกำลังกายที่ดีของสุนัขสายพันธุ์ขาสั้นควรอยู่ที่เวลาประมาณ 10 – 15 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละประมาณ 4 – 5 ครั้งก็ถือว่าเพียงพอแล้ว